top of page

เต่าทะเล ผู้พิทักษ์ระบบนิเวศน์ที่กำลังจะสูญพันธุ์เพราะมนุษย์

  • Writer: Admin
    Admin
  • Mar 29, 2020
  • 1 min read

Updated: May 30, 2020



คนไทยหลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวทะเลไทยในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมานี้ น่าจะสังเกตเห็นว่าชายหาดทะเลไทยนั้นเต็มไปด้วยขยะมากขึ้นทุกปี หากถามว่าขยะเหล่านี้มาจากไหน หลายคนอาจคิดว่าสาเหตุของขยะคือนักท่องเที่ยวที่ไร้ความรับผิดชอบต่อพื้นที่สาธารณะ แต่แท้จริงแล้วรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยให้เห็นว่า ขยะส่วนมากไม่ได้เกิดจากนักท่องเที่ยว หากแต่เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนบก กล่าวคือขยะมากถึงร้อยละ 80 กำเนิดมาจากบ้านเรือน ชุมชนที่อยู่อาศัย และแหล่งทิ้งขยะในเมือง


สาเหตุที่ขยะจากเมืองใหญ่ไปโผล่อยู่ตามชายหาดและในท้องทะเลนั้น เกิดจากการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์ เช่น ขวดน้ำ แก้วน้ำ หลอด ภาชนะ หีบห่อ ช้อนส้อม และถุง ขยะพลาสติกจำพวกนี้มีลักษณะเล็ก และมีขนาดเบา ทำพวกมันถูกคลื่นลมและกระแสน้ำพัดพาไปสู่ทะเลได้ง่าย


ในปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับที่ 5 ที่มีการปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าจะมีโครงการกำจัดขยะในทะเลที่จัดการโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการเก็บขยะที่ติดมากับเรือประมง และสร้างตาข่ายดักจับขยะ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาที่แท้จริงมาจากจำนวนขยะพลาสติกมหาศาลที่เหลือทิ้งจากการใช้งานของมนุษย์


แล้วเต่าทะเลเกี่ยวอะไร?


จากผลการเก็บข้อมูลของศูนย์วิจัยสัตว์ทะเลของมหาวิทยาลัยพลายเมาธ์ ในสหราชอาณาจักร พบว่ามีขยะพลาสติกอยู่ใน 100% ของเต่าทะเลในการศึกษา และพบว่ามีขยะพลาสติกเฉลี่ย 150 ชิ้นในสัตว์ทะเลหนึ่งตัว


ขยะพลาสติกเพียงชิ้นเดียวทำให้เต่าทะเลมีความเสี่ยงที่จะต้องตายจากภาวะทางเดินอาหารอุดตันมากถึง 22% และพุ่งสูงถึง 50% หากเต่ากินขยะพลาสติกเข้าไป 14 ชิ้น นั่นหมายความว่า เต่าที่มีขยะพลาสติกเกินกว่า 200 ชิ้นจะต้องตายโดยไม่มีทางรักษาได้อย่างแน่นอน


ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เต่าทะเลที่กินขยะพลาสติกขนาดเล็กลงไปจะไม่สามารถสำรอกขยะออกมาได้ เนื่องจากภายในปากและลำคอมีลักษณะเป็นเขี้ยวแหลมที่ลู่ไปด้านหลังจำนวนมาก ทำให้สิ่งของขนาดเล็กที่กลืนลงไปไม่สามารถย้อนกลับออกมาได้ นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังบอกอีกว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จำนวนเต่าทะเลลดลงอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะลูกเต่าอายุน้อยขาดประสบการณ์ในการแยกแยะขยะออกจากอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ถุงพลาสติกที่เต่ามักจะเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุน


ดังนั้น แม้ว่าแม่เต่าทะเลหนึ่งตัวจะสามารถวางไข่ได้มากถึง 1,000 ฟองภายหนึ่งฤดูกาล ก็ไม่ได้แปลว่าจะช่วยให้การอนุรักษ์พันธุ์เต่าเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะนอกจากลูกเต่าจะต้องต่อสู้กับศัตรูทางธรรมชาติอย่างนกและปูแล้ว พวกมันยังต้องเผชิญหน้ากับขยะนับล้านล้านชิ้นในทะเลอีกด้วย


ทำไมคนกรุงต้องแคร์เต่า?


วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯในปัจจุบันนั้นมีความเร่งรีบ และห่างไกลจากธรรมชาติอย่างมาก แน่นอนว่าการซื้ออาหารสำเร็จรูป และการใช้พลาสติก Single-Use หรือพลาสติกใช้แล้วทิ้งนั้น มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว เหมาะกับชีวิตในกรุงเทพฯ และคนส่วนมากเลือกที่จะเลือกความสบายมากกว่าการรักษาธรรมชาติ เพราะคิดว่าธรรมชาติทั้งป่าและทะเลเป็นเรื่องไกลตัว หากแต่แท้จริงแล้วเต่าทะเลเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมาก


ความสำคัญของเต่าทะเลต่อระบบนิเวศน์


  • เมื่อแม่เต่าวางไข่ ไม่ใช่ไข่ทุกฟองที่จะมีตัวอ่อน หรือฟักออกมาเป็นตัวลูกเต่า ซากของไข่เต่านั้นมีสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อชายหาด และหญ้าทะเล ซึ่งช่วบลดการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นและพายุ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล

  • เมื่อลูกเต่าฟักออกจากไข่แล้ว หากไม่รอดลงทะเลก็จะกลายเป็นอาหารทางธรรมชาติของนกทะเล ปู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก เช่น สุนัข

  • เต่าทะเลบางชนิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร ถือเป็นการช่วยควบคุมปริมาณของแมงกะพรุนในธรรมชาติให้สมดุล และนอกจากนี้มันยังกินหญ้าทะเล ซึ่งถือได้ว่าเต่าทะเลเป็นเครื่องตัดหญ้าทะเล คือช่วยตัดแต่งและรักษาปริมาณหญ้าทะเลให้เหมาะสมเสมอ

  • เต่าทะเลบางชนิดกินฟองน้ำทะเลเป็นอาหาร ถือเป็นการควบคุมปริมาณฟองน้ำ ซึ่งส่งผลดีต่อปะการังและสัตว์ที่อาศัยในแนวปะการัง

  • เต่าทะเลที่โตเต็มวัยบางชนิด เป็นอาหารของฉลามและวาฬเพชรฆาต กล่าวคือเต่าก็มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์ฉลามและวาฬเพชรฆาตเช่นกัน

  • เต่าทะเลตัวใหญ่สามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัยให้กับเพรียงทะเล ปลาขนาดเล็ก และยังเป็นที่พักกลางทะเลให้แก่นกทะเลได้อีกด้วย


ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่าพฤติกรรมของเต่าทะเลมีส่วนช่วยรักษาสมดุลให้แก่ระบบนิเวศน์ในทะเล ทั้งต่อพืชทะเลและสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความหลากหลายทางระบบนิเวศน์นี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน


มนุษย์ และทะเล


เพราะการอาศัยอยู่ในเมืองอาจทำให้ใครหลาย ๆ คนลืมไปแล้วว่าชีวิตของเราต้องพึ่งพาธรรมชาติอย่างมาก หากพูดถึงด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีรายได้จากการประมงมากกว่า 1.1 แสนล้านบาทต่อปี

ส่วนด้านผลกระทบจากสุขภาพ ก็ขอให้ผู้อ่านได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ คือ


  • สัตว์และพืชทะเลเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ และปศุสัตว์

  • สัตว์และพืชทะเลมีประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาหลายชนิด

  • มหาสมุทรคือ 97% ของแหล่งน้ำของโลก

  • มหาสมุทรเป็นแหล่งผลิต 70% ของก๊าซออกซิเจนทั้งหมดบนโลก


จะเห็นได้ว่ามนุษย์ไม่สามารถหนีพ้นไปจากการพึ่งพาทะเลได้ หากทะเลศูนย์เสียระบบนิเวศน์ และความอุดมสมบูรณ์ นั่นก็หมายความว่ามนุษย์ได้สูญเสียแหล่งน้ำ อาหาร ปศุสัตว์ ยารักษาโรค และอากาศหายใจ


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเรา?

 

แหล่งอ้างอิง

Commentaires


About Us

We are Journalism Art Club, or JAC.  

This club is operated and managed independently from any organisation. 

 

Please contact us for more information.

2728mary@gmail.com

bottom of page