top of page

ฉลามซึ่งอยู่ในทะเลมากว่า 400 ล้านปี อาจสูญพันธุ์เพราะมนุษย์

  • Writer: Admin
    Admin
  • Mar 29, 2020
  • 1 min read

Updated: May 30, 2020



รู้หรือไม่? ฉลามนั้นอาศัยอยู่บนโลกใบนี้มาตั้งแต่ยุคไซลูเรียน หรือก็คือมากกว่า 400 ล้านปีมาแล้ว นั่นหมายความว่าพวกมันได้รอดชีวิตมาจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่ได้ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกว่า 60% สูญพันธุ์ แต่น่าเศร้าที่ฉลามกำลังตกอยู่ในอันตรายอีกครั้งเมื่อมันต้องมาอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ในปัจจุบัน


ฉลามเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารใต้ทะเล ฉลามนั้นมีหลายชนิด เช่น ฉลามวาฬ ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฉลามแต่ละชนิดมีรูปร่างหน้าตา พฤติกรรม และที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่แตกต่างกันไป ทั้งในมหาสมุทร และแม่น้ำ ลำคลอง ฉลามนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมาก แต่จำนวนของพวกมันกำลังลดลงเรื่อย ๆ เพราะการบริโภคของมนุษย์ ไม่ใช่เพราะขยะพลาสติกหลายล้านตันที่พวกเราปล่อยลงทะเลแต่เพียงอย่างเดียว แต่เพราะความนิยมในการกินหูฉลามด้วยเช่นกัน


ฉลามสำคัญอย่างไร?


พฤติกรรมการกินตามธรรมชาติของฉลามนั้นมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างมาก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าฉลามนั้นมีหลายประเภท และสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำหลายที่บนโลก ฉลามแต่ละชนิดนั้นก็ทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลในธรรมชาติแตกต่างกันไปตามลักษณะพฤติกรรมการล่าของแต่ละชนิด เช่น


  • ฉลามบริเวณแนวปะการังแคริบเบียน ช่วยควบคุมปริมาณปลานักล่าเช่นปลาหมอ ซึ่งล่าปลากินพืชอย่างปลานกแก้วเป็นอาหาร ทำให้สามารถควบคุมปริมาณสาหร่ายทะเลไว้ไม่ให้ไปแย่งพื้นที่ของปะการัง

  • ฉลามครีบดำนอกชายฝั่งแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยควบคุมปริมาณปลานักล่าเช่นกระเบนจมูกวัว ซึ่งล่าหอยเชลล์เป็นอาหาร ส่งผลให้ชาวประมงดำรงอยู่ได้ด้วยการจับหอยเป็นอาชีพ

  • ฉลามเสือ ซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติจะหากินแบบกระจายตัวไปทั่ว ทำให้เต่าทะเลไม่กินหญ้าทะเลเฉพาะที่ใดที่หนึ่งมากเกินไปจนหญ้าเสียหาย

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ฉลามนั้นเป็นจุดสูงสุดของระบบนิเวศน์ที่คอยควบคุมให้ทุกอย่างอยู่ในความสมดุล แต่ไม่เพียงเท่านี้ ฉลามยังมีส่วนช่วยในวงจรก๊าซคาร์บอนใต้ท้องทะเลด้วย โดยการวิจัยพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่มีขนาดใหญ่ เช่น วาฬและฉลาม สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ ด้วยความที่พวกมันมีศัตรูทางธรรมชาติน้อยมาก ทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายทศวรรษ และสามารถกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้เทียบเท่ากับต้นไม้เลยทีเดียว เมื่อพวกมันตายลงตามธรรมชาติ ร่างกายของมันจะจมลงสู่ใต้ทะเลลึก และกลายเป็นอาหารให้กับสัตว์กินซากใต้น้ำ เช่น ดาวทะเล และแอ็กฟิช (ปลาไหลเมือก) ทำให้ปริมาณคาร์บอนวนเป็นวงจรอยู่ใต้ทะเล และแยกออกจากชั้นบรรยากาศ


กล่าวคือ การที่มนุษย์ฆ่าฉลามโดยตรง หรือทำให้ฉลามตายอย่างผิดธรรมชาติ จะทำให้คาร์บอนไม่ถูกขับเคลื่อนเป็นวงจรใต้ทะเล แต่จะวนกลับขึ้นมาในชั้นบรรยากาศแทน


อะไรทำให้จำนวนฉลามน้อยลง?


มีสาเหตุหลายหลายประการที่ทำให้ประชากรฉลามในทะเลลดน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉลามได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก


พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์


  • ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่การล่าฉลามยังไม่ผิดกฎหมาย หมายความว่า การรณรงค์ให้คนเลิกกินหูฉลามเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือยังมีการล่าและการขายอยู่อย่างมากมาย

  • จำนวนฉลามในประเทศไทยหายไปจนต้องนำเข้าหูฉลามจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยแทบจะกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าขายหูฉลาม เพราะนอกจากะนำเข้าแล้ว ประเทศไทยยังเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ส่งออกหูฉลามมากที่สุดในโลกด้วย

  • หูฉลามไม่มีรสชาติ หรือคุณค่าทางการแพทย์ แม้ว่าจะถูกเชื่อว่าเป็นยาแผนโบราณที่สามารถรักษาโรคได้มากมาย ในความเป็นจริงแล้วหูฉลามไม่มีทั้งรสชาติ หรือสรรพคุณใด ๆ โดยรสชาติในชุปหูฉลามมักเกิดจากเครื่องปรุงอื่น ๆ

  • ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าการกินหูฉลามส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะครีบหรือหูฉลามนั้นเป็นบริเวณที่ฉลามกักเก็บสารเคมีจำพวก ปรอท และแคทเมียมไว้มาก และถ้าหากมีการบริโภคสารพวกนี้เป็นปริมาณมาก ก็ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ ได้

  • การจับฉลามนั้นเป็นไปอย่างโหดร้าย โดยที่ชาวประมงจะทำการตัดครีบทั้งหกบนตัวฉลาม ก่อนจะปล่อยร่างไร้ครีบของมันกลับลงสู่ทะเล เนื่องจากเนื้อของมันหินพื้นที่เรือและขายได้ยาก จากนั้นฉลามไร้ครีบก็จะไม่สามารถขยับไปไหนได้ มันจะไม่สามารถหาอาหาร ป้องหันตัว หรือแม้แต่หายใจได้ เพราะมันจำเป็นที่จะต้องใช้ครีบว่ายน้ำเพื่อให้อากาศไหลผ่านเหงือกของมันในการหายใจ ดังนั้นมันจึงถูกปล่อยให้ตายลงอย่างช้า ๆ และทรมาน

  • ธุรกิจการล่าและค้าขายหูฉลามไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ชาวประมงระดับท้องถิ่นเลย เพราะนอกจากจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาแล้ว เมื่อจำนวนฉลามลดลงชาวประมงจะต้องเช่าเรือที่ใหญ่ขึ้นเพื่อออกไปหาฉลามในพื้นที่ที่ไกลขึ้น ทำให้ต้องกู้เงินมาเพื่อเป็นค่าน้ำมัน และกลายเป็นวงจรหนี้สินที่ไม่มีวันสิ้นสุด

  • นอกเหนือจากนี้ ฉลามก็ได้รับผลกระทบจากขยะในทะเลไม่แพ้สัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ แม้ว่าฉลามจะไม่ถูกล่าเพื่อครีบ พวกมันก็มักจะตายเพราะติดมากับอวนลากของชาวประมง


สถิติการล่าฉลาม


  • ฉลามประมาณ 100 ล้านตัวถูกมนุษย์ฆ่าต่อปี

  • จากจำนวนนั้น มากกว่า 73 ล้านตัวถูกล่าเพื่อครีบ


ธรรมชาติของฉลาม


แม้ว่าการเจริญเติบโต และพฤติกรรมทางธรรมชาติของฉลามจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้ปริมาณฉลามลดลง แต่เราก็อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึง เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมเราจึงไม่ควรล่าฉลาม และทำไมเราจึงควรทำทุกวิถีทางเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ฉลาม


  • ฉลามเติบโตช้า: ฉลามแต่ละประเภทมีระยะเวลาในการเติบโตไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ฉลามจะพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุ 5–25 ปี น่าเศร้าที่ฉลามอาจถูกล่าก่อนที่มันจะได้มมีโอกาสมีลูก

  • ฉลามตั้งท้องนาน: ฉลามบางชนิดออกไข่ ฉลามบางชนิดออกลูกเป็นตัว สำหรับชนิดที่ตั้งท้องอาจมีระยะเวลาการตั้งท้องได้ตั้งแต่ 9–12 เดือน ทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่ฉลามจะถูกจับก่อนได้คลอดลูก

  • ฉลามบางชนิดออกลูกน้อยต่อหนึ่งครั้ง

  • ฉลามบางชนิดไม่ได้ผสมพันธุ์ทุกปี และบางชนิดอาจมีระยะเวลาพักตัวนานถึง 2 ปี


สิ่งที่เราสามารถทำได้มีอะไรบ้าง?


หลายครั้งที่เราเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายหลายอย่าง รวมทั้งเห็นสัตว์โลกถูกทำร้ายไปต่อหน้าต่อตา ภายในใจของเราอาจมีหลากหลายคำพูดที่อยากพูดออกมา แต่ก็เป็นการยากที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยตัวคนเดียว



อย่างไรก็ตาม หากเราช่วยกัน เสียงเล็ก ๆ จะต้องกลายเป็นเสียงที่ใหญ่พอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงอยากขอให้ทุกคนทำตามนี้ เพื่อช่วยรักษาพันธุ์ฉลามให้อยู่ต่อไปอีกนาน ๆ


  • ไม่ซื้อ ขาย กิน หรือสนับสนุน หูฉลามทุกรูปแบบ

  • หากเจอญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีความเชื่อผิด ๆ ควรพูดด้วยเหตุผลและไม่ใช้อารมณ์

  • ร่วมรณรงค์ตามแคมเปญต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย หรือการไปร่วมด้วยตนเอง

  • สอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจความสำคัญของฉลาม

  • เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการใช้พลาสติดแบบใช้แล้วทิ้ง

  • ทิ้งขยะ และกำจัดขยะให้ถูกวิธี

  • สุดท้ายนี้หากว่ายังอยากกินหูฉลาม เราขอเชิญให้คุณลองสูตรหูฉลามปลอม ที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าหูฉลามจริง แถมอร่อยและไม่ทำร้ายธรรมชาติอีกด้วย สูตรหูฉลามปลอม


 

แหล่งอ้างอิง

Comentarios


About Us

We are Journalism Art Club, or JAC.  

This club is operated and managed independently from any organisation. 

 

Please contact us for more information.

2728mary@gmail.com

bottom of page